Search for:
  • Home/
  • การลงทุน/
  • เช็คลิสต์นักลงทุนมือใหม่ 5 เรื่องต้องรู้ ก่อนการลงทุน
5 เทคนิคง่ายๆ ที่นักลงทุนมือใหม่อย่างเราต้องเตรียมตัวเพื่อก้าวสู่ความฝันการมีเงินเพิ่มขึ้นได้เร็วขึ้น เพื่อการสร้างกำไรที่มากขึ้นด้วยนั่นเอง

เช็คลิสต์นักลงทุนมือใหม่ 5 เรื่องต้องรู้ ก่อนการลงทุน

ก่อนที่เราจะก้าวสู่สนามการลงทุน ขอแนะนำให้เช็คความพร้อมของตัวเองด้วย 5 เทคนิคง่ายๆ ที่นักลงทุนมือใหม่อย่างเราๆ ต้องเตรียมตัวเพื่อก้าวสู่ความฝันการมีเงินเพิ่มขึ้นได้เร็วขึ้น ทั้งการรู้จักตนเอง รู้จักทางเลือกลงทุน วิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการลงทุน ไม่ว่าจะเป็น แนวโน้มทางเศรษฐกิจและเทคนิคการลงทุน จากนั้นลงมือทำตามแผนการลงทุน และติดตามและทบทวนแนวทางการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ

1. รู้จักตนเองและการยอมรับความเสี่ยง

สำหรับนักลงทุนมือใหม่ที่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ให้ลองถามตัวเองเพื่อทำความรู้จักกับตนเองให้ลึกซึ่ง ดังนี้

  • เป้าหมายการลงทุนของเราคืออะไร
  • ใช้เงินมากน้อยแค่ไหน มีเงินเพียงพอต่อการลงทุนไหม
  • มีระยะเวลาสำหรับการลงทุนหรือไม่ เช่นว่าเราต้องการให้บรรลุเป้าหมายทำกำไรจากการลงทุนเมื่อไหร่

จากนั้นให้พิจารณาว่าเราอายุเท่าไหร่ มีความชอบหรือความสนใจในการลงทุนสินทรัพย์ประเภทไหน มีประสบการณ์ลงทุนไหม มีเงินลงทุนมากน้อยแค่ไหน ต้องการผลตอบแทนรูปแบบใด เท่าไหร่ มีเวลาติดตามข่าวสารด้านการลงทุนไหม

และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การยอมรับความเสี่ยงจากการลงทุน คือการตั้งคำถามที่ว่า เมื่อมันขาดทุน เราจะยอมรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน หรือถ้าหากได้กำไรจะเพิ่มวงเงินลงทุนหรือไม่ ตัวอย่างเช่น ถ้ารับความเสี่ยงได้ต่ำ แสดงว่ายอมรับความผันผวนได้น้อย หรือแทบจะไม่ได้เลย ซึ่งการลงทุนส่วนใหญ่จึงมุ่งไปที่การพยายามรักษาเงินลงทุนให้ปลอดภัยที่สุด

แต่หากรับความเสี่ยงได้ปานกลาง แสดงว่ายอมรับความผันผวนได้บ้าง แต่ต้องไม่มากจนเกินไป เพื่อการได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น ขณะที่หากรับความเสี่ยงได้สูง แสดงว่าไม่กังวลกับความผันผวน เพราะหวังจะได้รับผลตอบแทนที่สูง รวมถึงโอกาสที่เงินลงทุนจะเพิ่มขึ้นและเติบโตด้วย

2. รู้จักทางเลือกและประเภทการลงทุน

เมื่อรู้จักตนเองแล้ว เราก็ต้องทำความรู้จักกับสิ่งที่เราจะลงทุนด้วย เพราะนอกจาก “เงินฝากธนาคาร” ก็ยังมีอีกหลายทางเลือกมาก มาย แค่ตั้งต้นจากทางเลือกลงทุนหลัก 9 ประเภท ดังต่อไปนี้

  • หุ้น คือการลงทุนในหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งนักลงทุนจะเป็นผู้ตัดสินใจซื้อขายด้วยตัวเองผ่านบัญชีหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์หรือโบรกเกอร์
  • กองทุนรวม (Mutual Fund) คือ การรวบรวมเงินของนักลงทุน นำมาลงทุนตามนโยบายที่กองทุนรวมนั้นๆ กำหนดไว้ โดยมี “ผู้จัดการกองทุน” ที่เป็นมืออาชีพช่วยบริหารจัดการเงินของกองทุน กองทุนรวมมีจุดเด่นตรงที่มีเงินน้อยก็ลงทุนได้ แถมยังมีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย ทั้งกองที่ลงทุนในตราสารหนี้ หุ้นในประเทศ หุ้นต่างประเทศ รวมไปถึงอสังหาริมทรัพย์ ทองคำ และสินทรัพย์อื่นๆ
กองทุนรวม
ประเภทกองทุนรวมและระดับความเสี่ยงและผลตอบแทน
  • DW (Derivative Warrants) เป็นใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ ซึ่งสามารถซื้อขายเหมือนหุ้นตัวหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์
  • DR (Depositary Receipt) คือตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับนักลงทุนที่สนใจอยากเริ่มต้นลงทุนในหุ้นหรือ ETF ต่างประเทศ
  • ETF คือการลงทุนในกองทุนรวมดัชนี (Index Fund) ที่มีนโยบายการลงทุนตามดัชนีต่างๆ
  • อนุพันธุ์ เป็นสินค้าทางการเงินชนิดหนึ่งที่มีคุณลักษณะพิเศษ คือเป็นสินค้าที่ไม่มีมูลค่าในตัวเอง แต่มีมูลค่าขึ้นอยู่กับสินค้าอื่นที่อนุพันธ์นั้นอ้างอิงอยู่ เช่น ฟิวเจอร์ส ออปชั่น ฟอร์เวิร์ด และสวอป
  • ตราสารหนี้ คือ ตราสารทางการเงินที่ผู้ถือ (นักลงทุน) มีสถานะเป็นเจ้าหนี้ และผู้ออกมีสถานะเป็นลูกหนี้ โดยเจ้าหนี้จะได้รับผลตอบแทนในรูปของ “ดอกเบี้ย”
  • การลงทุนในทองคำ มีรูปแบบการลงทุนที่หลากหลาย ทั้งทองคำแท่ง กองทุนรวมทองคำ กองทุนรวมอีทีเอฟทองคํา (Gold ETFs) และสัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า (Gold Futures)
  • การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ รูปแบบหนึ่งในการซื้ออสังหาสำหรับการอยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็น ที่ดิน บ้าน คอนโดมิเนียม ทาวน์เฮาส์ อพาร์ตเมนต์ ฯลฯ เพื่อขายหรือปล่อยเช่า ให้ได้ผลตอบแทนเป็นรายได้หรือกำไรจากส่วนต่างราคาขายกลับมา

3. วิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการลงทุน

วิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานมากำหนดกรอบการลงทุนให้แคบลง ด้วยวิธีง่ายๆ คือ ดูภาพรวมเศรษฐกิจว่าปัจจุบันเป็นอย่างไรและมีแนวโน้มที่ดีในอนาคตหรือไม่ จะส่งผลกระทบกับแต่ละสินทรัพย์หรือแต่ละอุตสาหกรรมในเชิงบวกหรือเชิงลบอย่างไร เพื่อค้นหาสินทรัพย์ที่น่าสนใจลงทุน เราจะได้มาวิเคราะห์แนวโน้มการเติบโตของสินทรัพย์นั้นๆ ว่า ถ้าเราลงทุนไปแล้ว มีโอกาสจะได้กำไรในอนาคตหรือไม่

หลังจากค้นพบรูปแบบที่น่าสนใจลงทุนแล้ว ก็ต้องนำราคาตลาดของสินทรัพย์ดังกล่าวมาเปรียบเทียบกับมูลค่าที่แท้จริงของสินทรัพย์นั้น เพื่อดูว่าราคาสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น หรือ ราคาต่ำเหมาะสมที่จะลงทุน และใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ เป็นตัวช่วยกำหนดจุดซื้อ-จุดขาย เพื่อให้ประสบผลสำเร็จในการลงทุน

4. ลงมือทำตามแผนการลงทุน

อันดับแรกเลยเราก็ต้อง เปิดบัญชี หรือสมัครบัญชีเพื่อการลงทุนก่อน เพื่อใช้ในการซื้อหรือขาย ซึ่งกรณีลงทุนหุ้น ETF ตราสารหนี้ DW หรืออนุพันธ์ ต้องเปิดบัญชีกับบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า โบรกเกอร์

ส่วนการลงทุนในกองทุนรวม การเปิดบัญชีครั้งแรก ต้องเปิดบัญชีกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แต่ละแห่ง หรือตัวแทนขายของ บลจ. แต่ครั้งถัดๆ ไป ก็จะซื้อขายสะดวกมากขึ้น เพราะซื้อขายผ่านอินเตอร์เน็ตได้เลย

ในส่วนของเงินในการลงทุน ต้องพิจารณาตามรูปแบบการลงทุนที่เลือก เช่น อยากได้หุ้นราคา 5 บาท โดยปกติแล้วต้องซื้อขั้นต่ำ 100 หุ้น ก็เท่ากับเราต้องมีเงินลงทุนขั้นต่ำ 500 บาท แต่ยังมีค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่เราต้องจ่ายให้กับโบรกเกอร์ด้วย หรือถ้าอยากทุนในกองทุนรวม ปัจจุบันเงินลงทุนขั้นต่ำในการซื้อกองทุนรวมน้อยมาก บางกองไม่มีขั้นต่ำในการลงทุนเลยด้วยซ้ำ นั่นหมายความว่า 1 บาทก็เริ่มลงทุนได้แล้วเช่นกัน อย่างไรก็ตามเพื่อความมั่นใจต้องศึกษารายละเอียดของแต่ละหน่วยการลงทุนและประเภทการลงทุนก่อนการลงทุนในแต่ละประเภททุกครั้ง

5. ติดตามการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ

เมื่อเริ่มลงทุนไปแล้ว กรณีที่เราลงทุนในสินทรัพย์ประเภทหุ้นหรือกองทุน เราต้องพยายามเข้ามาติดตามผลการลงทุน หรือสถานการณ์การลงทุนด้วย อาจจะทุก 6 เดือน หรือ 1 ปีก็ได้ แล้วแต่ความสะดวก โดยดูว่าผลตอบแทนที่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้แล้วหรือยัง หากไม่ เราก็จะได้ปรับพอร์ตการลงทุนได้ทันเวลานั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในรูปแบบใดๆ ในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ต้องอย่าลืมว่าทุกการลงทุนมีความเสี่ยง ควรระมัดระวังในการลงทุนและวางแผนการลงทุนอย่างรอบคอบก่อน